สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายเรื่องการบริหารจัดการเมืองในสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid – 19

สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายเรื่องการบริหารจัดการเมืองในสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid – 19 วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM และ Facebook Live
หัวข้อการบรรยาย:108 คำถามเรื่องเครื่องฟอกอากาศกับ COVID – 19 ?
วิทยากรบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ องค์วรรณดี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีวัตถุประสงค์ในการจัดการบรรยายด้านวิชาการเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับด้านการบริหารจัดการเมือง โดยเฉพาะสภาวการณ์ระบาดของ Covid – 19 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

Q&A เรื่องเครื่องฟอกอากาศกับ COVID – 19?

Q: การแพร่กระจายของเชื้อ SARS – CoV-2 แพร่อย่างไร?

A: นักวิจัยระบุขนาดของอนุภาคเชื้อไวรัสโควิด19 อยู่ที่ประมาณ 0.1 ไมครอน แต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต้องอาศัยละอองฝอยที่ออกมาจากผู้ติดเชื้อ โดยมีรูปแบบการติดเชื้อได้ 3 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 ละอองฝอยขนาดใหญ่หรือ droplet ซึ่งมาจากผู้ติดเชื้อไอจาม ละอองฝอยสามารถเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณผิวเยื่อบุของผู้รับได้โดยตรง ทั้งนี้ผู้รับก็ต้องอยู่ในระยะที่ใกล้พอด้วย เราเรียกลักษณะการติดเชื้อแบบนี้ว่า ‘droplet infection’ แต่เนื่องจากละอองฝอยแบบนี้มีขนาดใหญ่ แขวนลอยในอากาศได้ไม่นานก็จะตกลงสู่พื้นผิวต่างๆ ในอาคาร

เส้นทางที่ 2 ละอองไอหรือ droplet nuclei มาจากเมื่อละอองฝอยขนาดใหญ่ลอยอยู่ในอากาศแล้ว น้ำหรือของเหลวได้ระเหยออกไป จนทำให้ละอองลดขนาดเล็กลงมาก จึงสามารถแขวนลอยในอากาศได้นานขึ้น ผู้รับเชื้อได้รับผ่านการหายใจเอาละอองไอเข้าสู่ร่างกาย เรียกลักษณะการติดเชื้อแบบนี้ว่า ‘airborne infection’

เส้นทางที่ 3 ละอองฝอยตกลงสู่พื้นผิวต่างๆ ในอาคาร จากนั้นผู้รับเชื้อมาสัมผัสพื้นผิวดังกล่าวแล้วไปสัมผัสกับบริเวณใบหน้าที่สามารถนำพาเชื้อเข้าสู่ภายในร่างกายได้ เรียกลักษณะการติดเชื้อแบบนี้ว่า ‘contact infection’

นักวิจัยพบว่า ละอองขนาดเล็ก (Aerosol) ซึ่งเล็กกว่า 5 ไมครอนสามารถแขวนลอยในอากาศได้นานเป็นชั่วโมงยิ่งขนาดเล็กลงไปสามารถอยู่ในอากาศได้นานเป็นวัน โดยเชื้อที่อยู่ในละอองที่แขวนลอยในอากาศมีชีวิตได้นานถึง 3 ชั่วโมง ถ้าละอองเชื้อที่ตกลงสู่พื้นผิว เช่น พลาสติก โลหะ สามารถอยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมง  การไอ จาม พูดคุย หรือแม้แต่การหายใจออก สามารถผลิตละอองฝอยออกสู่อากาศภายนอกได้ด้วยขนาดที่แตกต่างกัน การไอ 7-125 ไมครอน  การจาม <0.6 – 16 ไมครอน และ 40 – 125 ไมครอน  การพูดคุยสนทนา <0.8 – 7.0 ไมครอน และ 16 – 125 ไมครอน ในขณะที่การหายใจออกผลิตละอองขนาด  <0.8 –2.0 ไมครอน

Q: ถ้าเราอยู่ในห้องกับคนอื่น ๆ จะป้องกันตัวเองอย่างไร?

A: จากคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เราควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำความสะอาดมือและพื้นผิวสัมผัส เปิดประตูหน้าต่างเพิ่มการระบายอากาศให้มากที่สุดควรหรือมีการใช้พัดลมระบายอากาศเพื่อให้อากาศภายในห้องถ่ายเทได้สะดวกเติมอากาศสะอาด (Fresh Air) เข้ามาตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ละอองฝอยสะสมในห้อง ในขณะเดียวกันนักวิจัยต่างประเทศได้ระบุว่าอาคารสูงที่มีสำนักงานหรือผู้คนอาศัยอย่างแออัดควรมีอัตราการระบายอากาศ 5 – 25 ลิตรต่อวินาทีต่อคน และอัตราการหมุนเวียนอากาศสะอาดมาแทนที่อากาศเดิมควรอยู่ระหว่าง 3 – 9 รอบต่อชั่วโมง ในขณะที่ CDC แนะนำสำหรับสถานพยาบาลให้มีการหมุนเวียนอากาศสะอาดให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 รอบต่อชั่วโมง

สำหรับการใส่หน้ากากอนามัยข้อควรระวัง คือ ต้องใส่ให้สนิทกับใบหน้าสำหรับการใส่หน้ากากอนามัย จากผลการทดสอบในห้องทดสอบของนักศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาลัยพัฒนามหานครได้ทดสอบการสวมใส่หน้ากากอนามัยในลักษณะที่มีการปิดบริเวณขอบของหน้ากากอนามัยอย่างแน่นหนาและการปล่อยให้บริเวณขอบของหน้ากากอนามัยสวมไม่สนิทเกิดช่องโหว่ด้านข้างจะทำให้ประสิทธิภาพการกรองละอองฝอยขนาด 0.3 ไมครอนลดลงถึง 30% คำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) การใส่หน้ากากอนามัยควรปิดช่องโหว่บริเวณด้านข้างของหน้ากากให้แนบสนิทไม่ให้เกิดรูรั่วหรือให้สวมหน้าหน้ากากผ้าทับอีกหนึ่งชั้นเพื่อให้สนิทมากที่สุด

Q: เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือนสามารถกำจัดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้หรือไม่?

A: สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (USEPA) ได้มีการตอบคำถามว่าการใช้เครื่องฟอกอากาศอย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดละอองที่มีไวรัสอยู่ภายในบ้านได้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้เครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ (Portable air purifier) เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ USEPA แนะนำให้ใช้เครื่องฟอกอากาศร่วมกับการปฏิบัติตามมาตรการอื่น ๆ อย่างเคร่งครัดตามที่แนะนำโดย CDC เช่น 1. การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น 2. การเว้นระระยะห่าง 3. การระบายอากาศให้มีอากาศใหม่ (Fresh Air) ถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา 4. การทำความพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่มีการใช้ร่วมกันกับผู้อื่น และ 5.การล้างมือทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรม
สถานการณ์แบบไหนที่อาจใช้เครื่องฟอกอากาศแบบพกพาเคลื่อนย้ายได้?

  1. เป็นทางเลือกเสริม (Option) สำหรับใช้ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้
  2. ในห้องที่ไม่สามารถเพิ่มการระบายอากาศสะอาดจากภายนอกได้
  3. ในกรณีที่อากาศภายนอกสกปรกไม่สามารถนำอากาศภายนอกเข้ามาถ่ายเทอากาศภายในได้

Q: เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศแบบ HEPA มีประสิทธิภาพกรองไวรัสโควิด 19 ได้หรือไม่?

A: HEPA คือแผ่นกรองอากาศ HEPA หรือที่ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air Filter” จัดเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ทำมาจากเส้นใยขนาดที่เล็กจำนวนมากจนมันมีความสามารถในของการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากได้ สามารถดักจับอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ไม่ต่ำกว่า 99.97 % (US DOE) ผลการศึกษาในประเทศจีนที่มีการเก็บตัวอย่างอากาศในโรงพยาบาลอู่ฮั่น พบละอองที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 มีขนาด 0.25-1.0 ไมครอน และใหญ่กว่า 2.5 ไมครอน ดังนั้นเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศแบบ HEPA จึงมีประสิทธิภาพในการดักจับละอองที่มีไวรัสได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำของ CDC ในการเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศประเภทนี้

ข้อดี ข้อด้อยของเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศแบบ HEPA Air Filter

ข้อดี

ข้อด้อย

– เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องน่าเชื่อถือ
– มีประสิทธิภาพสูงในการดักจับละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็ก 0.2 – 0.3 ไมครอน

– มีวิธีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ และวิธีการทดสอบแผ่นกรองอากาศที่มีมาตรฐานสากล

– ต้องเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด

– ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

– แผ่นกรองอากาศแบบ HEPA ถ้าใช้ดักจับละอองฝอย (กรณีที่มีการดักจับไวรัสร่วมด้วย) อาจจำเป็นต้องมีกระบวนการในการกำจัดอย่างถูกวิธี

 

Q: ควรเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่แค่ไหน?

A: สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศเป็นลำแรกคือ Clean Air Delivery Rate (CADR) ค่าอัตราการส่งอากาศสะอาดที่ฟอกแล้วจากเครื่องฟอกอากาศ มีหน่วยเป็นลูกบาศก์ฟุตต่อนาที (CFM) หรือ ลูกบาศก์เมตรต่อนาที เมื่อทราบค่า CADR จะสามารถคำนวณพื้นที่ทีเหมาะสมต่อการใช้เครื่องฟอกอากาศนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคำนวณได้ดังนี้

เช่น เครื่องฟอกอากาศที่มี CADR = 300 CFM ควรใช้กับขนาดพื้นที่

= 300 x 3/2 = 450 ตารางฟุต
= 300 x 3/2 x 0.09
= 41 ตารางเมตร
ดังนั้นควรใช้เครื่องฟอกอากาศในพื้นที่ไม่เกิน 41 ตารางเมตร (หมายเหตุ 0.09 คือตัวเลขการแปลงหน่วยจากตารางฟุตเป็นตารางเมตร)

Q: เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิตมีแผ่นเก็บฝุ่นทำงานอย่างไร ดีหรือไม่?

A: หลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิตมีแผ่นเก็บฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ แบบ Electrostatic Precipitator (ESP) Filter เป็นระบบกรองอากาศที่ทำงานโดยใช้หลักไฟฟ้าสถิต ด้วยการปล่อยอิเล็กตรอนออกมาในอากาศ จากนั้นจะไปทำให้โมเลกุลอากาศ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ ซึ่งประจุไฟฟ้าจะไปดูดติดที่ผิวของฝุ่นละอองหรืออนุภาคขนาดเล็กทำให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นลบ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านสนามไฟฟ้าจะเคลื่อนที่ไปติดที่แผ่นเก็บฝุ่นซึ่งเป็นแผ่นโลหะ ทำให้ได้อากาศที่สะอาด อย่างไรก็ดีขณะใช้งานสามารถทำให้เกิดก๊าซโอโซนซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ และยังไปก่อให้เกิดมลพิษอากาศอื่นๆ ตามมาเนื่องจากปฏิกิริยาเคมีได้ เรียกว่า มลพิษทุติยภูมิ (Secondary pollutants)

ข้อดี

ข้อด้อย

– ไม่ต้องเปลี่ยน แผ่นกรองอากาศ แต่ต้องถอดแผ่นดักจับฝุ่นมาทำความสะอาดอยู่เสมอ

– มีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก (Submicron) แต่ในขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่น ความเร็วลมที่ไหลผ่านเครื่อง ความสะอาดของแผ่นเก็บฝุ่น

– เกิดก๊าซโอโซนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

– เกิดสารมลพิษอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้

Q: เครื่องฟอกอากาศแบบไอออนไนเซอร์ทำงานอย่างไร?

A: หลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศแบบไอออนไนเซอร์ (Ionizer) ภายในตัวเครื่องมีหัวผลิตประจุไฟฟ้า เช่น กรณีของ Negative ion air purifier จะปล่อยอิเล็กตรอนออกมาแล้วไปทำให้โมเลกุลของก๊าซในอากาศมีประจุไฟฟ้า ซึ่งจะไปติดที่ละอองอนุภาคในอากาศ เมื่อละอองอนุภาคมีศักย์ไฟฟ้าเป็นลบสามารถไปดูดติดที่พื้นผิววัสดุต่างๆ ในห้องได้ ทำให้ถูกกำจัดออกจากอากาศในห้อง งานวิจัยที่ทดสอบในห้องแล็บแสดงให้เห็นว่าเครื่องฟอกอากาศแบบไอออนไนเซอร์สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียในอากาศในท่อระบบระบายอากาศ แต่ประสิทธิภาพขึ้นกับปัจจัยสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ความเร็วลม ประเภทของแบคทีเรีย เป็นต้น

Q: ข้อกังวลที่สำคัญของการใช้เครื่องฟอกอากาศแบบไอออนไนเซอร์คืออะไร?

A: 1. เครื่องฟอกอากาศแบบไอออนไนเซอร์สามารถผลิตก๊าซโอโซนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
     2. มีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศประเภทสร้างไอออนประจุลบ (Negative Ion Air Cleaner) สำหรับกำจัด PM2.5 ซึ่งนิยมใช้ในโรงเรียนประถมและมัธยมในประเทศจีน โดยในการทดลองนี้ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีอัตราการผลิตอากาศสะอาด (CADR) 6 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที และอัตราการผลิตไอออนประจุลบ 10 ล้านอนุภาคต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มสัมผัสกับอากาศในห้องเรียนที่มีเครื่องฟอกอากาศแบไอออนประจุลบเป็นเวลา 7 วัน หยุดพัก 14 วัน จากนั้นจึงกลับมาสัมผัสกับอากาศในห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศแต่เปลี่ยนเป็นเครื่องฟอกอากาศแบบหลอกอีก 7 วัน ในระหว่าง 28 วัน จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ใช้อาคารเพื่อหาสารตัวชี้วัดทางชีวภาพจำนวน 4 ครั้ง ผลการตรวจวัดพบว่า ขณะที่ใช้เครื่องอากาศจริงระดับไอออนประจุลบในอากาศเพิ่มสูงมาก ส่วน PM2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับพบว่าสารตัวชี้วัดทางชีวภาพของกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเป็นไปได้ว่า ตัวไอออนประจุลบเองและสารที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของไอออนประจุลบ ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพผู้ใช้งานเครื่องฟอกอากาศ

ข้อดี

ข้อด้อย

– ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ ไม่ต้องเช็ดทำความสะอาดแผ่นเก็บฝุ่น

– ไม่ต้องใช้พัดลมดูด

– เนื่องจากไม่ได้ใช้พัดลมดูดเข้ากรองที่ตัวเครื่องฟอกอากาศ จำทำให้ CADR ค่อนข้างต่ำ

– อนุภาคฝุ่นละอองที่มีประจุแล้วไปติดที่พื้นที่ผิววัสดุสามารถย้อนกลับไปในอากาศได้

– งานวิจัยที่ทดสอบในสถานที่จริงในการยับยั้งเชื้อโรคน้อย

– ข้อกังวลสารที่ผลิตขึ้นจาดกการทำงานของเครื่องสร้างอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้ได้

 

Q: เครื่องฟอกอากาศแบบ (Photo Catalytic Oxidation) PCO ทำงานอย่างไร?

A:  เป็นการใช้สารคะตะลิสต์ที่สามารถเกิดปฏิกิริยาทางแสงได้ (Photocatalyst) เช่น ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยากับโมเลกุลของน้ำในอากาศได้ภายใต้สภาวะที่มีแสงยูวี (Ultraviolet) ทำให้เกิด ‘อนุมูลอิสระไฮดรอกซิล (Hydroxyl radical)’ และ ‘อนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ (Superoxide anion radical)’ ในอากาศ ซึ่งสารเหล่านี้จะสามารถกำจัดมลพิษอากาศประเภทสารอินทรีย์ระเหยในอากาศที่มาเกาะที่ผิวไทแทนเนียมไดออกไซด์ ให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ

Q: เครื่องฟอกอากาศแบบ (Photo Catalytic Oxidation) PCO ยับยั้งไวรัสโควิด 19 (SARs CoV-2) ได้หรือไม่?

A: มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติ ได้ทำการทดลองในห้องแล็บโดยใช้หลักการ PCO มีสารคะตะลิสต์ คือ ไทแทนเนียมไดออกไซด์ ภายใต้สภาวะที่มีแสงและไม่มีแสงยูวี ยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมทั้ง SARS-CoV-2 พบว่า สามารถยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ดีภายใต้สภาวะมีแสงยูวี แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีผลการทดลองที่ทดสอบในสถานที่ทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ภายในห้องแล็บ ซึ่งจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและมีผลต่อความสามารถของเครื่องฟอกอากาศแบบ  PCO เช่น
– ความชื้นในอากาศ
– ก๊าซมลพิษอื่น ๆ
– Coating ของคะตะลิสต์
– อายุการใช้งานของคะตะลิสต์
– แหล่งความเข้มของการแผ่รังสียูวี

Q: ข้อกังวลที่สำคัญของการใช้เครื่องฟอกอากาศแบบ (Photo Catalytic Oxidation) PCO

A: ข้อดี/ข้อด้อย เครื่องฟอกอากาศแบบ (Photo Catalytic Oxidation) PCO  

ข้อดี

ข้อด้อย

– เป็นเทคโนโลยีใหม่เพื่อใช้กำจัดก๊าซมลพิษในอาคาร

– เทคโนโลยียังต้องวิจัยและพัฒนาอีกเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เช่น ประสิทธิภาพเมื่อใช้งานจริงลดลงมาก, การเกิดสารระคายเคืองอื่นๆ (มลพิษทุติยภูมิ), อายุการใช้งานของอุปกรณ์สั้น

– ยังไม่มีมาตรฐานการทดสอบเครื่องฟอกอากาศสำหรับกำจัดก๊าซมลพิษ และเชื้อโรค

– ลดอนุภาคฝุ่น ละอองขนาดเล็ก ในอากาศไม่ได้

Q: เครื่องฟอกอากาศแบบ Ultraviolet Germicidal Irradiation (UVGI) ทำงานอย่างไร?
A:
แสงยูวี (Ultraviolet, UV) เป็นช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็น แต่ยาวกว่ารังสีเอกซ์อย่างอ่อน มีความยาวคลื่นในช่วง 100-400 นาโนเมตร UV จะถูกแบ่งงออกเป็น 3 ช่วง คือ UV-A มีความยาวคลื่นในช่วง 315 – 400 นาโนเมตร UV-B มีความยาวคลื่นในช่วง 250 -315 นาโนเมตร และ UV-C มีความยาวคลื่นในช่วง100 – 250 นาโนเมตร ซึ่ง UV-C นิยมใช้ในการฆ่าเชื้อหรือทำให้เชื้อหมดฤทธิ์ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรียและรา แต่การใช้กับแบคทีเรียบางประเภทและสปอร์ของราจะต้องใช้ปริมาณรัวสียูวี (UV dose) มากขึ้นกว่าปกติ

US EPA จำแนกลักษณะการใช้งาน UVGI ในที่พักอาศัยเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การฆ่าเชื้อที่แขวนลอยในอากาศ (Airstream disinfection) เช่น เครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ติดหลอดยูวี และ 2. การทำความสะอาดที่พื้นผิว (Surface cleaner) จะนิยมใช้ในระบบปรับอากาศระบายอากาศรวมของอาคาร โดยใช้หลอดยูวีฉายรังสีไปที่พื้นผิวของคอล์ยเย็นที่อาจมีเชื้อเกาะอยู่
USEPA ได้ทำการสำรวจเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ใช้ยูวี พบว่าปริมาณรังสีไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเวลาสัมผัสกับเชื้อในอากาศสั้นเกินไปหรือความเข้มของรังสียูวีน้อยเกินไป

ข้อดี

ข้อเสีย

สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

– ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

1.ความเข้มของแสงยูวี + ระยะเวลาสัมผัส

2.ชนิดของเชื้อ

3.การออกแบบระบบ/การทำงานของระบบ

4.ความสะอาดของหลอดยูวี

– ยังไม่ได้มาตรฐานในการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศสำหรับกำจัดเชื้อ

– ไม่สามารถลดอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศได้

– ก่อให้เกิดก๊าซโอโซนที่อาจจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพขณะใช้งานได้

Q: CDC แนะนำการใช้ UVGI ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันโควิด 19 อย่างไร?

A: CDC แนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ร่วมกันในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะอยู่ในอาคาร ประกอบด้วยมาตรการทางสุขอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง และการระบายอากาศของห้อง นอกจากนี้สามารถพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การใช้ระบบกรองอากาศแบบ HEPA และ การใช้ระบบฆ่าเชื้อในอากาศ UVGI

CDC แนะนำการใช้ Upper Room UVGI คือ การติดตั้ง UVGI ที่ตำแหน่งใกล้เพดานของห้อง มีระบบการหมุนเวียนพาอากาศด้านล่างที่คนทำกิจกรรมขึ้นมาด้านบนเพื่อให้อากาศที่มีเชื้อได้สัมผัสกับแสงยูวีที่ฉายออกมา เรียกบริเวณดังกล่าวว่า Disinfection zone ระบบแบบนี้เหมาะกับพื้นที่ที่มีคนความแออัดเว้นระยะห่างไม่ได้ พื้นที่ที่มีผู้ป่วย พื้นที่ทานอาหารที่ต้องถอดหน้ากาก ยกเว้นถ้าพื้นที่นั้นมีระบบระบายอากาศด้วยอัตราที่กำหนดไว้สูงมากพอแล้วการเพิ่ม UVGI ก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก