รป.ม. การพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน

ที่มาและความสำคัญของหลักสูตร
     หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิค 19 ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันธนาคารโลกได้รายงานว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายเป็นวงกว้างที่สุดในรอบ 150 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2413 (ค.ศ.1870) โดยธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2563 จะติดลบประมาณร้อยละ 5.2 ขณะเดียวกันความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจจะทำให้ประชากรโลก 70 -100 ล้านคน เข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีด ซึ่งจะมีส่วนฉุดรั้งการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะชาติที่พึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย 
     นอกจากนี้ การแพร่ระบาดดังกล่าวยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ส่งต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างมากในหลายด้าน ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ การขยายตัวของความเป็นเมือง การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในตลาดโลก ฯลฯ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมองหาแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของความคิดสร้างสรรค์ การยกระดับเทคโนโลยีและต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยในการปรับตัวและมองหาโอกาสจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและมหานครเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้แก่เมืองหรือประเทศได้ในอนาคต
     หลักสูตรรัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการผลิตบุคลากรเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ตลอดจนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดการและการพัฒนามหานครอย่างยั่งยืน การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างท่ามกลางการแข่งขันในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาจากฐานรากอย่างมั่นคงด้วยการเติบโตแบบสมดุล สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืน

สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม
     ในสภาพการณ์ปัจจุบันพบว่าเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วทั้งมุมโลกกำลังเผชิญหน้ากับการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งมีที่มาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ภูมิภาค ที่อยู่อาศัย และด้านอื่นๆ ทั้งนี้ พหุวัฒนธรรมในสังคมไทยยังมีที่มาจากการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากประเทศอื่นๆ อีกด้วยโดยมีที่มาจากทั้งการไหลของคน ผ่านการอพยพ ลี้ภัย หรือการท่องเที่ยว การไหลของระบบการผลิต การไหลของทุน การไหลของภาพลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการไหลของแนวคิดและอุดมการณ์แบบตะวันตก สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดสังคมและวัฒนธรรมย่อยเพิ่มขึ้นมาจากที่เคยมีอยู่ในอดีต 
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในบริบทของความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย โดยต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่เน้นด้านสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้แก่ประชาชนมากขึ้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ กลายเป็นประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่ท้าทายการพัฒนาและการจัดการมหานครอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำให้ปัญหาสาธารณะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น บนความไว้วางใจต่อภาครัฐและผู้บริหารเมืองและมหานครที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนได้ 
     ดังนั้น การจัดทำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) จึงจัดทำเพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ถึง ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสังคม เข้าใจผลกระทบและมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ในสังคม มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นไปในลักษณะสอดคล้องและเหมาะสมกับสังคมไทยและสังคมโลก โดยคำนึงถึงแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Inclusivity) อันเป็นหลักการสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

การพัฒนาหลักสูตรและความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
     การพัฒนาหลักสูตร

     จากสถานการณ์ในปัจจุบันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และแนวโน้มการขยายตัวของความเป็นเมืองที่สูงขึ้น จึงมีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อการปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยมุ่งหวังผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการและการพัฒนามหานครอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อการเลือกประกอบอาชีพต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมต่อไปทั้งในระดับมหานคร เมือง และท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 10 ปี (พ.ศ. 2560 – 2569) ที่มุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยคุณธรรม ผู้นำด้านศาสตร์เขตเมืองและเครือข่ายการพัฒนาเมือง และกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์เขตเมืองด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งรูปแบบทั่วไป (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล) และรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) และชุมชนเขตเมือง จึงได้จัดทำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) ที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของมหานครและเมือง สร้างบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย โดยมีเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตร ดังนี้
     เพื่อจัดทำเนื้อหาของรายวิชาต่าง ๆ ให้มีองค์ความรู้เฉพาะทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับองค์ความรู้ในศาสตร์อื่นที่หลากหลายและจำเป็นต่อการนำไปใช้ในด้านการบริหารและจัดการมหานคร และปรับปรุงรายวิชาของหลักสูตรให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมากยิ่งขึ้นทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มของอนาคต
     เพื่อจัดทำรายวิชาของหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบวิชาชีพทางด้านการบริหารและจัดการมหานครและการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น 

     มุ่งสร้างนักบริหารและจัดการมหานครที่มีธรรมาภิบาล มีจิตสาธารณะ สามารถพัฒนาองค์ความรู้และค้นพบสิ่งใหม่ด้วยกระบวนการวิจัยขั้นสูงในเรื่องการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นผู้นำด้านศาสตร์เขตเมือง

     เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) สามารถประกอบอาชีพในองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์การอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

  • ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่เป็นส่วนราชการ (ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การอิสระ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น เจ้าพนักงานปกครอง (ปลัดอำเภอ) นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักทรัพยากรบุคคล นักวิเคราะห์งบประมาณ นักวิชาการคลัง นักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นักจัดการงานทั่วไป
  • พนักงานในองค์การภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เช่น นักทรัพยากรบุคคล นักพัฒนาองค์การ นักฝึกอบรม นักชุมชนสัมพันธ์ นักตรวจสอบภายใน เป็นต้น
  • นักวิจัย นักวิชาการ และอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ในสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษา

     นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวยังสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาวิชารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ หรือสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แผน 1 แบบวิชาการ (การศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์)
     (1) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2566 หมวด 2 การรับเข้าศึกษา และการขึ้นทะเบียนนักศึกษา
     (2) มีผลสอบความรู้ภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ Paper-based/ITP หรือ Computer-based หรือ Internet-based หรือ IELTS หรือ CU-TEP หรือ TEC-W (ผลสอบต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสมัคร) หรือเป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือยื่นผลสอบภายหลังผ่านการคัดเลือก เข้าศึกษาในหลักสูตรแล้วไม่เกิน 1 ปี
     (3) มีการนำเสนอหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรคของส่วนงานที่สังกัด ที่คาดว่าจะพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเพื่อพิจารณา กรณีที่ผู้สมัครเป็นนักศึกษาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปีการศึกษานั้น ๆ ให้มีการนำเสนอหัวข้อวิจัยที่สนใจ และคาดว่าจะพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์
     (4) คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนดโดยประกาศให้ทราบ ในแต่ละปี

แผน 2 แบบวิชาชีพ (ทำสารนิพนธ์)

      (1) เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2566 หมวด 2 การรับเข้าศึกษา และการขึ้นทะเบียนนักศึกษา
     (2) มีผลสอบความรู้ภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ Paper-based/ITP หรือ Computer-based หรือ Internet-based หรือ IELTS หรือ CU-TEP หรือ TEC-W (ผลสอบต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสมัคร) หรือเป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือยื่นผลสอบภายหลังผ่านการคัดเลือก เข้าศึกษาในหลักสูตรแล้วไม่เกิน 1 ปี
     (3) มีการนำเสนอหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรคของส่วนงานที่สังกัด ที่คาดว่าจะพัฒนาเป็นหัวข้อสารนิพนธ์ ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเพื่อพิจารณา กรณีที่ผู้สมัครเป็นนักศึกษาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปีการศึกษานั้น ๆ ให้มีการนำเสนอหัวข้อวิจัยที่สนใจ และคาดว่าจะพัฒนาเป็นหัวข้อสารนิพนธ์
     (4) คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนดโดยประกาศให้ทราบในแต่ละปี

ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เรื่อง การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการมหานครอย่างยั่งยืน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2567)

ค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยประมาณ
ต่อภาคการศึกษาไม่เกิน 35,000 บาท / ภาคฤดูร้อนไม่เกิน 8,000 บาท
หรือ ต่อปีการศึกษาไม่เกิน 70,000 บาท
หรือ เหมาจ่ายตลอดทั้งหลักสูตร
ไม่เกิน 148,000 บาท

อัตรานี้จะรวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา
ค่าธรรมเนียมห้องสมุด
ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแรกเข้า
รวมถึงสิ่งสนับสนุนการเรียนอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่วิทยาลัยพัฒนามหานคร
และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กำหนด

งานรับเข้าศึกษา หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา

โทรศัพท์: 02 241 3500 ต่อ 5758 (ฝ่ายวิชาการ)

Email: imd@nmu.ac.th
Email: kritsana.ted@nmu.ac.th
(คุณกฤษณะ เทศแจ่ม นักวิชาการศึกษา ปฏิบัติการ)