ความเป็นมา

“จุดเริ่มต้น” จากสถาบันพัฒนาเมือง

เมื่อปี พ.ศ.  2551 กรุงเทพมหานคร ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง “มหาวิทยาลัย” ขึ้น เพราะเห็นว่าควรมีการนำเอาประสบการณ์จากการเรียนรู้ในการปฏิบัติงานที่พบเห็นในแต่ละพื้นที่ และประสบการณ์ของมหานครกรุงเทพอันมีค่ายิ่ง มาแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม และเป็นรูปธรรม และประกอบกับ กรุงเทพมหานครยังคงขาดสถาบันที่ผลิตบุคลากรเพื่อพัฒนางานกิจการสาธารณะ โดยเฉพาะการบริหารจัดการเมือง (Urban Management)

ดังนั้น เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ในลักษณะของการนำประสบการณ์จากการดำเนินการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม (Learning by doing) จึงได้ประกาศใช้ ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยสถาบันพัฒนาเมือง พ.ศ.  2551 ซึ่งเป็นการก่อตั้ง “สถาบันพัฒนาเมือง” ขึ้น อย่างเป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารและการพัฒนากรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนเมือง โดยกำหนดเป็นส่วนราชการภายในสำนักผังเมือง ภายใต้การบริหารงาน ของผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเมือง และกำกับดูแลการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการสถาบันพัฒนาเมือง โดยมีชื่อเรียกว่า “สถาบันพัฒนาเมือง (สพม.)” (Urban Green Development Institute: URB-GREEN) ในระยะเริ่มต้นของการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเมืองได้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีชื่อเสียง และนักวิชาการหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันฯ เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ สุขสำราญ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย นายวัลลภ สุวรรณดี รองศาสตราจารย์ มานพ พงศทัต โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันชุดแรก มีนักวิชาการจากหลากหลายสาขา เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารสถาบัน เช่น ศาสตราจารย์ ดร. จรัส สุวรรณมาลา ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อตระกูล ยมนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. การดี เลี่ยวไพโรจน์ รองศาสตราจารย์ ดร. บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย เป็นต้น

การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ในช่วงนั้นได้เน้นการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเมือง โดยเน้นดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในการศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างครบวงจร และแลกเปลี่ยนองค์ความด้านการพัฒนาเมืองในระดับนานาชาติ โดยผลงานสำคัญคือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้นักพัฒนาเมืองซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เข้าอบรมเพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการบริหารงานพัฒนาเมืองอย่างครบวงจรภายใต้หลักสูตรการอบรมผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง

“เปลี่ยนผ่าน” สู่การผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาเมือง

“…เมื่อกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของกรุงเทพมหานครแล้ว ให้โอนสถาบันพัฒนาเมืองไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษานั้น…”
ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยสถาบันพัฒนาเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 14

ในเวลาต่อมา ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันพัฒนาเมือง เมื่อกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชขึ้นแล้ว จึงได้โอนย้าย “สถาบันพัฒนาเมือง” มาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยได้จัดตั้งขึ้นเป็น “วิทยาลัยพัฒนามหานคร (วพม.)” (Institute of Metropolitan Development) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยมีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนามหานครและเมือง ทำวิจัยและสร้างเครือข่ายภาคีการวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาเมืองและมหานคร จัดทำคลังความรู้มหานครและเมือง รวมทั้งให้บริการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานอื่น โดยแรกเริ่มจากมีเป้าหมายในการเตรียมทรัพยากรสำหรับสร้างเมืองอย่างมีคุณภาพ โดยทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การฝึกอบรม การจัดทำคลังความรู้ ตลอดจนการสร้างเครือข่าย ประสานความร่วมมือ ในการพัฒนาวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองทั้งในประเทศและนานาชาติ และได้เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง เช่น สาขาวิชาวิศวกรรมเมืองประยุกต์เพื่อการพัฒนาเมือง การบริหารจัดการเมือง การอบรมในสาขาเฉพาะทาง และการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ (KM) ในการบริหารจัดการเมืองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนเมือง โดยในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดการสอนในหลักสูตร “วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาและจัดการเมือง” ซึ่งถือเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโทหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

จาก “ปทุมวัน” สู่ “ดุสิต”

ในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้ง วิทยาลัยพัฒนามหานคร ได้ใช้อาคารศรีจุลทรัพย์ ชั้น 19 ถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน เป็นสถานที่ทำการจัดการเรียนการสอน โดยประกอบด้วยห้องเรียน ห้องประชุม มุมคลังความรู้ สำนักงาน และห้องพักอาจารย์ แต่เนื่องด้วยการจัดการเรียนการสอนในอนาคตอันใกล้ที่วิทยาลัยจะได้เริ่มการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพื่อประสิทธิภาพในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารองค์กรที่ให้มีสถานที่ตั้งในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จนในราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 วิทยาลัยพัฒนามหานคร จึงได้ย้ายสถานที่ตั้งมายังสถานที่ตั้งปัจจุบัน ณ อาคารนวมินทร์ 1 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต

“ต่อยอด” ขยายการศึกษาสู่ระดับปริญญาตรี

ภายหลังจากการเปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ในปี พ.ศ. 2562 วิทยาลัยพัฒนามหานคร ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของมหานคร จากมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ได้อนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีในสองสาขาวิชา ได้แก่ “หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการเมือง” และ “หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบิน” โดยสาขาการบริการธุรกิจการบิน เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2562 และสาขาการบริหารจัดการเมือง เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2563 

ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตร เพื่อให้มีความทันสมัยทางองค์ความรู้และการตอบสนองต่อปัญหาและความท้าทายของเมือง โดยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการเมือง ได้ปรับปรุงเป็น “หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารและจัดการเมือง” และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบิน ได้ปรับปรุงเป็น “หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการบริการ” โดยทั้งสองหลักสูตรได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

วิทยาลัยพัฒนามหานคร ถือเป็นคณะวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่มีปณิธานตั้งมั่นที่จะเป็น “สถาบันวิชาการเพื่อการพัฒนามหานครและรับใช้สังคม”