หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบินBachelor of Arts Programme in Aviation Business Services

Bachelor of Arts Programme in Aviation Business Services
B.A. (Aviation Business Services)
เป็นหลักสูตรแบบวิชาการและฝึกปฏิบัติการ จัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาค (2 ภาคการศึกษา/ ปีการศึกษา)
ระยะเวลาการศึกษาตามแผนการศึกษา 8 ภาคการศึกษา (4 ปี)
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบิน มีโครงสร้างหลักสูตร ดังนี้
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
- รายวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
- รายวิชาเลือก 12 หน่วยกิต
2. หมวดวิชาเฉพาะ 86 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 11 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาเอกบังคับ 48 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาเอกเลือก 12 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาโท 15 หน่วยกิต
3. หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
รวมหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 122 หน่วยกิต

การบริการธุรกิจการบิน เรียนอะไร?
จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการบินและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางของภาคพื้นทวีปเอเชียที่จะเดินทางไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก การขยายตัวของธุรกิจสายการบินทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มีจำนวนสูงขึ้นเป็นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการขยายตัวของธุรกิจการบิน ความต้องการบุคลากรทางด้านการบินก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลิตบุคลากรเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้านธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมการบิน
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเล็งเห็นถึงความต้องการบุคลากรทางด้านธุรกิจการบิน จึงได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบินขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการผลิตบุคลากรทางด้านการบินของประเทศในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้บัณฑิตมีความรู้ทางด้านการบริการธุรกิจการบิน มีทักษะด้านความปลอดภัยการบิน การดูแลผู้โดยสาร การบริการขั้นสูงบนภาคพื้น และเครื่องบิน พร้อมทั้งสามารถนำความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ ไปใช้ในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแล้ว ยังสร้างให้บัณฑิตมีความรู้ ทักษะพื้นฐานด้านการพยาบาล และการดูแลสุขภาพ เพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความปลอดภัยและใส่ใจสุขภาพ
“Grow Your Passion, Elevate Your Dream”
- Training with Experts in Aviation Business
สาขาการบริการธุรกิจการบิน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ถือเป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท ไทยไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจัดการเรียนการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ถนนวิภาวดีรังสิต โดยเน้นการฝึกทักษะต่าง ๆ กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ในด้านธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมบริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ - Learning “Nursing Science” Minor
สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบิน เห็นความสำคัญของข้อกำหนดทางการบินที่เน้นให้ลูกเรือมีความรู้ในด้านความปลอดภัยของสุขภาพ จึงจัดให้นักศึกษาได้ศึกษาวิชาด้านการพยาบาลเป็นวิชาโท ซึ่งได้รับการจัดการเรียนการสอน จากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บัณฑิตมีทักษะในการดูแลบุคคลขั้นพื้นฐาน การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ทารก และประเมินสุขภาพระหว่างเดินทาง (Caring for elderly pregnant, children in font and health assessment during trip)
บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจุดมุ่งเน้นสำคัญในสายงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมการบินทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เช่น
- พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
- พนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน
- พนักงานสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารเครื่องบิน
- พนักงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการบริการ
- เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการบริการ
“สาขาวิชาการบริการธุรกิจการบิน” มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความพร้อมด้านการเป็นผู้ให้บริการ/ ทำงานด้านธุรกิจการบินอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมบริการอย่างมืออาชีพ โดยมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการ และรอบรู้ในสายงานอาชีพอย่างแท้จริง
- เป็นผู้ที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ ปวส.) และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาก่อนเดือนกรกฎาคมในปีที่จะเข้าศึกษา หรือ
- เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตร/ โรงเรียนนานาชาติ โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทุกรายวิชาในระดับ Grade 10 – 11 (ตามระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา) หรือในระดับ Year 11 – 12 (ตามระบบการศึกษาของอังกฤษ) หรือ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร/ โรงเรียนนานาชาติ โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมรวมทุกวิชา ในระดับ Grade 12 (ตามระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา) หรือในระดับ Year 13 (ตามระบบการศึกษาของอังกฤษ)
- เป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจ หรือโรคสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ/ อาชีพ
* อ้างอิงจากประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประจำปีการศึกษา 2564
** วิทยาลัยพัฒนามหานคร ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้สมัคร ทั้งนี้ให้ผู้สมัครติดตามการประกาศรับสมัครของมหาวิทยาลัยในแต่ละรอบอีกครั้ง
กำหนดเปิดรับสมัครในช่วงเดือน ธันวาคม – มิถุนายน ก่อนเปิดภาคการศึกษา
ภาคการศึกษาที่ 1: สิงหาคม – ธันวาคม
ภาคการศึกษาที่ 2: มกราคม – พฤษภาคม
ภาคการศึกษาที่ 3 (ภาคฤดูร้อน): มิถุนายน – กรกฎาคม
เป็นไปตามระเบียบการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
อัตราค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตรแบบเหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 40,000 บาท
อัตรานี้จะรวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมห้องสมุด ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแรกเข้า ค่าชุดปฏิบัติการ รวมถึงสิ่งสนับสนุนการเรียนอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่วิทยาลัยพัฒนามหานครและมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชกำหนด
งานรับเข้าศึกษา หลักสูตรระดับปริญญาตรี
โทรศัพท์: 02 164 2636 (สำนักงานผู้อำนวยการและโทรสาร)
Email: imd@nmu.ac.th